การออกแบบนั้น เหมือนกับการปรุงอาหาร

ช่วงนี้ได้ไปอบรมให้กับ โครงการไอทีวัลเลย์ หลายวัน ต้องอบรมทั้งกับนักเรียนชาวเขาและชนกลุ่มน้อย กับอาจารย์ต่างจังหวัดซึ่งไม่คุ้นกับภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่อบรมกลับเป็นแนวคิดฝรั่งมากๆ นั่นคือ กราฟฟิคดีไซน์ หรือ การออกแบบ

ภาพจาก http://www.elitalice.com/2009/02/25/cook_kitche_love_robert_indiana/

ตอนที่สอนใน iSchool ผมก็อธิบายให้นักเรียนฟังไม่ยากนักว่า การออกแบบที่ดีนั้นต้อง Minimal และ Less is more ซึ่งคนที่รู้จัก Apple และ iSchool ก็มักจะนึกกันออกไม่ยากอยู่แล้ว แต่ที่ต่างจังหวัดนั้นไม่ง่าย กระนั้น ผมก็นึกได้ว่าศิลปะแต่ละแขนงต่างเหมือนกัน นั่นก็คือ

การออกแบบนั้น เหมือนกับการปรุงอาหาร

 

ถ้าทุกอย่างเด่นหมด สุดท้ายจะไม่มีอะไรเด่น

การที่เรามีน้ำพริกรสเด็ด น้ำปลาแท้ชั้นดี เครื่องแกงรสจัด หรือ วัตถุดิบคุณภาพเยี่ยมอื่นๆ ไม่ได้แปลว่า เราควรจะใส่ทุกอย่างทีมีลงไป และไม่ได้แปลว่า ไอ้ของที่อร่อยๆ นั้น รวมๆ กันเยอะๆ แล้วมันจะอร่อย
การจัดวางก็เหมือนกัน ถ้าทุกอย่างในหน้านั้น เด่นหมด สุดท้าย มันก็จะไม่มีอะไรเด่น

ความสำคัญของรสจืดและที่ว่าง

ผักรสอ่อน จิ้มน้ำพริกรสจัด มันจึงอร่อย แค๊ปหมู จึงควรคู่กับน้ำพริกหนุ่ม ไม่ใช่กินน้ำปลากับซอสพริกกับน้ำพริกหนุ่ม
เหมือนกับ “ที่ว่าง” ที่อยู่ในงานออกแบบ ที่เสริมให้ “จุดเด่น” นั้นเด่นขึ้น
ถ้าทุกคนอยากจะเป็นตัวเด่นที่สุด งานชิ้นนั้นก็จะไม่รู้จะเริ่มดูตรงไหน ถ้าไม่มีที่ว่าง นำสายตาให้เราดูสิ่งที่เด่น ผลสุดท้ายก็สื่อสารไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรคือจุดเด่น

อย่าทำทุกเทคนิค

เราไม่สามารถใช้เทคนิคการทำอาหารทุกรูปแบบ กับอาหารหนึ่งจานได้ ปิ้ง+ทอด+อบ+ตุ๋น =?
เวลาเริ่มทำงานออกแบบ เราจะอยากใช้เทคนิคทั้งหมดที่มี เอารูปใส่ทั้ง Drop Shadow, ใส่ Stroke, ใส่ขอบมน, ใส่ Gradient, ใส่เอฟเฟ็ค Blur, ปรับ Opacity บางๆ, ใส่ขอบฟุ้ง, ใส่ inner shadow และอื่นๆ อื่นๆ ผลสุดท้ายมีแต่เทคนิค แต่ไม่เหลือความเป็นรูป

คัดเลือกวัตถุดิบที่ดี แล้วค่อยเริ่มปรุงอาหาร (ที่รู้ว่าจะเป็นอะไร)

ตอนก่อนทำอาหาร เราต้องเตรียมวัตถุดิบสารพัด ล้างผัก หั่นหมู แล้วก็มีจุดหมายว่าจะทำหมูผัดผัก
แต่การทำงานออกแบบ หลายๆ คนกลับไม่รู้ว่าจะทำอะไร? จบงานแล้วจะออกมาแบบไหน? นอกจากนั้น ยังไม่เตรียม “วัตถุดิบ” อีกด้วย
รูป: ปรับ Level ก่อน เตรียมรูปที่ความละเอียดเหมาะสมกับงานที่จะทำก่อน, สี: เลือกชุดสีก่อนว่าเข้ากันหรือเปล่า จะเอาสีไหนปูพื้น เอาสีไหนลงข้อความ, ฟ้อนท์: เลือกฟ้อนท์ก่อน ว่าจะเอาอารมณ์ไหน ใช้ฟ้อนท์ไหนเป็นฟ้อนท์หลัก อันไหนฟ้อนท์รอง, เลย์เอาท์: คิดคร่าวๆ ก่อน ว่าควรจะวางอย่างไร ตรงไหนจุดเด่น ตรงไหนข้อความ

ต่อให้ลอกสูตร ทำเสร็จก็อาจจะไม่เหมือน

เวลาเริ่มหัดทำอาหาร เราควรจะหาสูตรอาหารมาลองทำตามก่อน ไม่ใช่ใส่น้ำตาลน้ำปลาไปเรื่อย แล้วคิดว่า สุดท้ายมันคงจะอร่อย และ -อีกมุมหนึ่ง- ต่อให้ลอกสูตรคนอื่น ก็ไม่แน่ว่ารสชาติจะออกมาเหมือนกัน
การทำงานออกแบบ ก็ควรหา “เลย์เอาท์” หรือโครงร่างของงานของคนอื่นมาทำก่อน ต่อให้เราทำตามโครงของคนอื่น แต่เมื่อวัตถุดิบไม่เหมือนกัน งานที่ออกมาก็ย่อมไม่เหมือนกัน ถ้ายังไม่คล่อง อย่าเพิ่งคิดที่จะ “ทำเลย์เอาท์ที่ไม่เหมือนใครในโลก” เพราะสุดท้าย เราจะได้เลย์เอาท์ “ปกรายงาน” แทน กลายเป็นว่าทำทุกครั้ง ได้แบบเดิมทุกครั้ง

ฯลฯ

ขณะที่สนุกไปกับการเปรียบเทียบ ผมก็พลันนึกถึงข้อจำกัด หรือลักษณะทางวัฒนธรรมอันหนึ่ง คือ

อาหารไทยรสจัด อาหารนอกรสละมุน อาหารญี่ปุ่นเหลือแค่ “ปลาดิบ”

นั่นสิ ยังไงคนไทย ก็คงต้องออกแบบ “รกๆ” กันส่วนใหญ่แหละ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของเรา
ชาติเราคงรับไม่ได้ถ้าจะมีของชิ้นเดียวบนพื้นที่ว่างๆ หรือทำอาหารเรียบๆ ขนาดปลาดิบวางบนจานกระเบื้อง (สีเดียว คุมโทน) แต่เราชอบส้มต้ำ ชอบที่จะใส่อะไรเยอะๆ มากๆ เข้าไป ชอบรสชาติจัดจ้าน สีหลากสี จุดเด่นเปรอะเต็มหน้า และเทคนิคแพรวพราวที่จะทำให้เจ้าของงานเกิดอาการงงงวย – เอ่อ มันสื่อได้ทุกอย่างแล้วนี่นา แล้วก็ใช้พื้นที่เต็มเหยียดแล้ว ไม่รู้จะแก้อะไรแล้ว

ละมั้ง? – ขืนทำปลาดิบชิ้นเดียวไปวาง คนสั่งงานคงต้องบอกว่า “เฮ้ย โล่งไปหน่อยหรือเปล่า เอาน้ำพริกกับเครื่องเคียงไปวางหน่อยดิ๊”

เป็นความรู้สึกปลง ปนขำ ๆ แต่ก็เข้าใจจุดเด่นของชาติเรามากขึ้นนะ

เอาน่า อาหารไทยใส่อะไรไปเยอะๆ ยังอร่อยได้เลย งานออกแบบก็คงเหมือนๆ กันแหละน่า ถึงจะรกบ้าง ก็ยังมีสวยแหละเนาะ

ความเห็น

ความคิดเห็น

  1. KRISS พูดว่า:

    เจ๋งว่ะพี่ ขอลอกเมะตะเพ้อ (metaphor) นี้ด่วน

  2. simplywit พูดว่า:

    แค่จะมาบอกว่า เมื่อกี้ผมจะเข้าเวปนี้แต่พิมพ์ n ตกไปตัวเดียว … กลุ้มเครียด

    อ๊าคคคคคค

  3. sekr พูดว่า:

    เปรียบเทียบได้เห็นภาพเลยครับ อย่างนี้นักเรียนคงจะเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ

  4. MiMD พูดว่า:

    ชอบครับชอบ บทความนี้..หร่อยจั่งฮู้!! 🙂

  5. lycoolthai พูดว่า:

    เอ่อ มาทดสอบโพสอะพี่ พอดีเพิ่งสมัคร gravatar เอิ้กๆ

  6. mokin พูดว่า:

    ชอบบทความนี้มากๆ เวลาออกแบบเว็บให้ใครเขาชอบบอก อยากอันนี้เด่น อันโน้นเด่น ตกลงทั้งหน้ามันเด่นทุกอันเลย สุดท้ายก็และ ตอนนี้มีบทความดีๆ จากพี่เม่นไปอธิบายเขาน่าจะเข้าใจการออกแบบมากยิ่งขึ้นน่ะ

    บทความดีมากเลยครับ ตอนท้ายมีเกี่ยวกับคนไทยด้วยโดนใจสุดๆ
    สุดท้ายช่วยแนะนำบทความ การออกแบบที่ Minimal และ Less is more ให้น้อยน่ะครับสนใจ หรือว่าพี่ช่วยเข็นแล้วก็เขียนบทความแนวนี้เยอะน่ะครับ จะติดตามครับ
    ขอบคุณครับ

    อืม เรื่องความเรียบง่าย กลับไม่ค่อยง่ายนัก คงต้องพูดกันยาวครับ เคยเขียนอยู่นิดนึงตอนเห่อนักออกแบบของแอปเปิ้ล คือ Jonathan Ive ถ้าตอนนี้สนใจ ถามท่านพี่กูเกิ้ลก่อนได้ครับ เช่น ค้นหาคำว่า minimal คือ หรือ less is more คือ

  7. KRISS พูดว่า:

    พูดถึงการทำทุกเทคนิก อาหารไทยมันจึงมี “ไข่ลูกเขย” ไงพี่ อร่อยด้วย

    หึ หึ ลึกล้ำยิ่งนัก ขอคารวะ