ระดมสมอง: การคิดค่าทำเว็บ ควรคิดอย่างไรดี?

แม้ว่างานยังล้นมือ เคลียร์ไม่ค่อยทัน แต่พอไปดูเว็บ Web Development Project Estimator แล้วก็ชอบมาก ทวิตไปก็มีเพื่อนๆ มาแนะนำว่า “น่าจะเอามาช่วยกันทำเป็นภาษาไทย ใส่ข้อมูลตามประสบการณ์” ก็เลยคิดว่า ขอแว้บมาจุดประเด็น เผื่อคนทำเว็บคนไหนจะเข้ามาแชร์ไอเดียกันนะครับ

ต้นแบบนั้น ใส่กระบวนการทำเว็บดังนี้

  • Project Brief : การบริฟงาน เริ่มโปรเจ็ค
  • Information Architecture : งานสถาปัตยกรรมด้านสารสนเทศ คร่าวๆ คือการออกแบบโครงสร้างข้อมูล
  • Design Research : การค้นข้อมูล/ตัวอย่างต่างๆ ด้านการออกแบบ
  • Initial Drafts & Sketches : การออกแบบฉบับร่าง
  • Design Revisions : การแก้ไขงาน
  • Final PSD Production : การจบงานดีไซน์ แล้วเก็บงานเป็นไฟล์ Photoshop
  • XHTML/CSS Development : การตัด XHTML และ CSS
  • Server-Side Development : การพัฒนาระบบ / ติดตั้งระบบบน Server
  • Testing & Debugging : การทดสอบและดีบักแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ
  • Copywriting : งานเขียนเนื้อหา คำบรรยาย และคำโฆษณาต่างๆ
  • Photography : การถ่ายภาพ
  • Photo Art Direction : การกำกับศิลป์ด้านการถ่ายภาพ
  • Client Meetings : การประชุมงานกับลูกค้า
  • Miscellaneous : เบ็ดเตล็ด

ซึ่งมาตรฐานของวงการนี้นั้น คิดการทำงานเป็นค่าแรงรายชั่วโมง ทำให้ฝรั่งทั้งหลายใส่แบบฟอร์มมาว่า แต่ละประเด็น คนทำงานนั้นใช้เวลาเท่าไหร่ และค่าแรงรายชั่วโมงเท่าไหร่? เว็บนี้ก็จะคำนวณให้เสร็จสรรพ

ตัวอย่างค่าแรงรายชั่วโมงของนักออกแบบจากหนังสือ Digging into WordPress (เค้าจะบอกว่า ถ้าคุณมาดูผมทำงาน หรือมาช่วยผมทำงานด้วย มันจะแพงน้าาา)

ตัวอย่างค่าแรงฝรั่งรายหนึ่ง

ขอเสนอตัวอย่างค่าแรงของผม

วิธีคิดว่า เราควรจะมีค่าแรงรายชั่วโมงเท่าไหร่ เริ่มคิดง่ายๆ ว่าเราอยากได้รายได้เดือนละเท่าไหร่? ที่คิดว่าสมเหตุสมผล และดูว่าเวลาทำงานจริงๆ ของเราคือเท่าไหร่? แล้วก็เอามาหารกันได้

ตัวอย่างเวลาทำงานของผมใน 1 เดือน

1 เดือนมีวันทำงานประมาณ 20 วัน (หักวันเสาร์อาทิตย์ และวันลาตามกฎหมาย ห้ามลาคลอดเพิ่ม) หากทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เท่ากับมีเวลาทำงาน 160 ชั่วโมง

ส่วนตัวผมเอง จะหักเวลาดังนี้

  1. ไว้สำหรับ Research and Development (เช่น อ่านหนังสือ, อ่าน Feed ที่เกี่ยวกับงาน) ตามหลักสากล ประมาณ 20% คือ 32 ชั่วโมง
  2. ไว้สำหรับ Sales, Marketing and Accounting (เพราะเป็น Freelance คือต้องขายเอง, โฆษณาตัวเอง และทำเอกสารต่างๆ ด้านการเงินเอง) 30% คือ 48 ชั่วโมง
  3. ทำงานเพื่อสังคม เช่น สอนหนังสือ, มีส่วนร่วมใน Open Source ฯลฯ ซึ่งต้องยอมรับว่า มันเป็นการช่วยโฆษณาตัวเองส่วนหนึ่ง และบางครั้งก็ได้ค่าเดินทาง/ค่าวิทยากรส่วนหนึ่ง ดังนั้น แม้จะใช้เวลาซัก 20% ก็สามารถคิดว่าใช้เวลา 10% ได้ คือ 16 ชั่วโมง

ดังนั้น เวลาทำงานที่เหลืออยู่ คือ 160 – 32 -48 -16 =  64 ชั่วโมง

แต่เผอิญว่าผมทำงานมาค่อนข้างมาก ทำให้ผมมั่นใจว่า เวลา 64 ชั่วโมงที่เหลือนี้ ผมสามารถหางานมาครอบคลุมได้หมด ผมก็ใช้ตัวเลขนี้ไปคำนวณค่าแรงต่อได้เลย

ตัวอย่างค่าแรงรายชั่วโมงของผม

ผมคิดว่า ผมพอใจที่เงินเดือนประมาณ 50,000 บาท (ก่อนหน้านี้อยู่ในกรุงเทพฯ เคยมีรายได้สูงสุด 1 แสน ผมคิดว่าการมาอยู่ปาย ลดรายได้ลงครึ่งหนึ่ง น่าจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผล) ทำให้เมื่อหารจำนวนชั่วโมงออกมาแล้ว (50,000/64) ผมควรจะคิดค่าแรงรายชั่วโมงประมาณ 800 บาท ตามบันทึก ค่าแรงรายชั่วโมง

แต่แน่นอนว่า หากผมหางานได้แค่ครึ่งหนึ่งของที่ประมาณไว้ ผมก็ย่อมมีรายได้ครึ่งเดียว ดังนั้นการประมาณว่าเราสามารถหาปริมาณงานได้เท่าไหร่ จึงสำคัญมาก

สมเหตุสมผลหรือเปล่า?

  1. ผมลองเทียบกับต้นทุนของบริษัท (ลองอ่านบันทึกสมัยทำบริษัทใหม่ๆ – จากกระทู้เรื่องเงินเดือน) พบว่าหากบริษัทจ้างพนักงานเงินเดือน 50,000 บาท บริษัทจะมีต้นทุนประมาณ 2 เท่า คือ 100,000 บาท แต่พนักงานบริษัทนั้นมักไม่ได้ทำงานจริงๆ 8 ชั่วโมง เพราะมักจะอู้ได้ หากคิดว่า ทำงานซัก 80% ก็จะได้เวลาทำงาน 128 ชั่วโมง เมื่อเอาไปหารต้นทุน 100,000 บาท เท่ากับบริษัทมีต้นทุนเกือบ 800 บาท/ชั่วโมง ด้านบน ผมเลยสรุปว่าตัวเลขนี้สมเหตุสมผล
  2. ผมลองเปรียบเทียบกับค่าแรงรายชั่วโมงของการทำงานรายชั่วโมงแบบอื่นๆ ของไทย (ซึ่งตอนนี้ นึกออกแค่ หมอนวด หากใครนึกออกอีกช่วยกรุณาวานบอก) พบว่าค่าแรงของผมอยู่ระหว่างหมอนวดแผนโบราณป้าๆ แก่ๆ กับ หมอนวดแผนปัจจุบันเกรดล่างๆ ดังนั้น ผมจึงคิดว่า ค่าแรงของผมน่าจะสมเหตุสมผล เพราะต่ำกว่าเด็กไซด์ไลน์อยู่มาก ดังนั้นผมก็ไม่ใช่คนรายได้สูงอะไรนัก
  3. หากดีไซน์เนอร์คาดหวังว่าจะมีรายได้ประมาณ 25,000 แล้วใช้เวลาตามผมเป๊ะ เค้าก็หางานให้ได้ครึ่งหนึ่งของผม โดยคิดราคารายชั่วโมงเดียวกับผม หรือไม่งั้นเค้าก็คิดราคาต่ำกว่าผมครึ่งหนึ่ง แล้วทำงานให้เท่ากับผม – ดูแล้วก็น่าจะสมเหตุสมผล และน่าจะมีคนทำได้มากกว่าผมอยู่อีกมาก
  4. สุดท้ายหากลูกค้ารู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล ผมก็นึกข้ออ้างไม่ออกแล้ว ดังนั้นคงต้องปล่อยงานและลูกค้ารายนั้นไป 🙂

ตัวอย่างเวลาที่ใช้ในแต่ละงานของผม

ยกตัวอย่างเว็บ Content ที่ไม่ได้ทำระบบซับซ้อน ทุกอย่างจบใน WordPress แต่อาจจะดีไซน์หลายครั้งหน่อย (เฉลี่ยแก้ประมาณ 7-8 ครั้ง) เช่น

  • Mobilitz.com ทำให้พี่กระทิงใน Silicon Valley
  • DKcurtain.com เว็บขายผ้าม่าน
  • Balloonie.com เว็บขายลูกโป่ง (อันนี้จะมีเพิ่มเวลาในส่วน Shopp อีก / ยังทำไม่เสร็จ)
  • hlpth.com เว็บองค์กร (แต่หน้าน้อยกว่าปกติ ไปเพิ่มส่วนที่ทำประกอบกับ Drupal แทน)
  • Slowstylepai.com เว็บชมรมการท่องเที่ยวปาย (อันนี้จริงๆ ประชุมเยอะมาก / เป็นงานอาสา / ยังไม่เสร็จ)
  • paisina.com เว็บแนะนำของในปาย (อันนี้ทำให้ภรรยา บังคับห้ามแก้ เลยอาจจะแก้ 1-2 ครั้ง / ยังไม่เสร็จ)

น่าจะใช้เวลาในส่วนต่างๆ ดังนี้

งาน อธิบาย ชั่วโมง ราคา
Project Brief ไม่ค่อยซับซ้อน 1 800
Information Architecture ไม่ค่อยซับซ้อน เลยทำแค่ sitemap 0.5 400
Design Research ส่วนใหญ่ต้องหาและแก้กันไปมาบ้าง แต่ลูกค้ามักจะช่วยหา 2 1600
Initial Drafts & Sketches ปกติผมใช้คำว่า version 1 (v1) 3 2400
Design Revisions ปกติจะแก้กันประมาณ 7-8 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง 10 8000
Final PSD Production ไม่ต้องส่งต่อให้ใคร เลยไม่ต้องเก็บงานมากนัก 1 800
XHTML/CSS Development ปกติจะตัดรูป ประมาณ 1 ชั่วโมง, สร้าง html แรก ประมาณ 3 ชั่วโมง สร้าง CSS ประมาณ 4 ชั่วโมง และตัดที่เหลือ (หากไม่มากนัก) ประมาณ 2 ชั่วโมง 10 8000
Server-Side Development ปกติทำธีม WordPress 7 ชั่วโมง, ติดตั้งและปรับแต่ง 1 ชั่วโมง 8 6400
Testing & Debugging งานฟรีแลนซ์ลูกค้ามักเป็นคนตรวจสอบเอง เราแค่แก้ไข 1 800
Content & Copywriting งานฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักไม่คิดคำให้ ให้ลูกค้าส่งให้เรา แต่ยังไงก็ต้องลงข้อมูลเริ่มต้นให้ 1 800
Photography ผมถ่ายรูปไม่เป็น 0 0
Photo Art Direction ผมไม่รับคุมกองถ่าย 0 0
Client Meetings ปกติทำงานที่ปาย สรุปงานผ่านเมล ผมเลยไม่นับเวลาประชุม (ถ้าอยู่กรุงเทพฯ แล้วนับน่าจะแพงกว่านี้อีกมาก เพราะมีทั้งเวลาประชุม, เวลาเดินทาง, ค่าเดินทาง และอาจมีค่าหัวเสียกับเรื่องไร้สาระที่ทำให้ทำงานไม่ได้หลายชั่วโมง) 0 0
Miscellaneous ทำงานที่ปาย ไม่มีเอกสาร ไม่มีเทรนนิ่ง ไม่มีแมสเซนเจอร์ ไม่มีค่ารถค่าน้ำมัน ไม่มีเจ๊าะแจ๊ะ ไม่มีน้ำร้อนน้ำชา 0 0
รวม 30,000

ระดมสมอง/แชร์ไอเดีย

อ่านแล้วอยากให้แชร์กัน ทั้งฝั่งคนจ้างทำเว็บ และฝั่งคนทำเว็บ ว่าเวลาที่ใช้ และ ราคาที่เสนอ แต่ละคนทำอย่างไรบ้าง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองและคนที่สนใจอยากทำธุรกิจออกแบบเว็บไซต์

ขอบคุณล่วงหน้าค้าบบบ 🙂

ความเห็น

ความคิดเห็น

  1. designbyarm พูดว่า:

    มี draft เสนอราคาด้วยจะแจ่มมาก สำหรับคนเริ่มทำ freelance

    1. iMenn พูดว่า:

      ถ้าพี่ทำแบบละเอียด ก็ตามตารางด้านบนแหละครับ คือเว็บองค์กรที่ตั้งใจออกแบบ น่าจะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 30,000 บาท ตีคร่าวๆ ก็ดีไซน์ 15,000 บาท ระบบ+ทำให้มันใช้ได้ 15,000 บาท

      แต่นี่เป็นราคาฟรีแลนซ์ที่พี่คาดให้เสร็จภายใน 1 เดือน และพี่รับเงินก่อนเป็นระยะๆ

      ก่อนหน้านี้สมัยทำเว็บใหม่ๆ คิด 15,000 ทำครึ่งปีครับ รอรับเงินหลังงานเสร็จ ขาดทุนสะสมเป็นแสนถึงเพิ่งรู้ตัว (แต่พอมาทำบริษัท ขาดทุนหลายล้านถึงเพิ่งรู้ตัว) ถ้าเริ่มทำฟรีแลนซ์ก็ขอให้ระวังเรื่องการรับเงิน และการจบงาน ส่วนใหญ่ฟรีแลนซ์ที่เพิ่งเริ่มรับงาน มักจะคิดค่าแรงตนเองต่ำกว่ากรรมกร น่ะครับ

      แต่เว็บนั้นมีหลายแบบ จะทำให้เหลือศูนย์บาทก็ได้ (คือแนะนำให้ไปสมัคร Google App, WordPress.com แล้วอ่านเองทำเอง) จะให้เหลือพันนึงก็ได้ (จดโดเมน+โฮสติ้ง+ลง cms) หรือกี่บาทมันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ดังนั้นก็ต้องเคลียร์กับทั้งลูกค้าและตัวเองว่า จะทำเว็บแบบไหนน่ะครับ

      ถ้าเราไม่รู้จักรถยนต์เลย เราคงคิดว่า บ้าหรือเปล่า รถมันก็หน้าตาเหมือนๆ กัน วิ่งก็ไม่ได้เร็วต่างกันมาก ทำไมมันมีราคาตั้งแต่ 5 แสน ถึง 50 ล้าน?

      คนทั่วไปยังไม่รู้จักเว็บ ก็เลยยิ่งงงว่า เว็บเหมือนกัน มีตั้งแต่ 0 บาท ถึงหลายล้านเลยเรอะ!

    2. desคลignbyarm พูดว่า:

      เป็นล้านเลยโอ้วมายก็อด

      1. iMenn พูดว่า:

        ลองดูบันทึกของคุณพัชครับ หลายๆ อันน่าสนใจ เช่น เว็บราชการ/ งานรัฐบาล ทำไมถึงแพง

        หรือของเอกชน เช่นข่าว กสิกรไทยทุ่มงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท สนับสนุนการจัดทำเว็บไซต์ 2010MegaSale.com

        ช่วงนี้อยู่ปาย เค้าทำบ้านดินกัน 3 หมื่น พี่ก็ตกใจเหมือนกันว่า เฮ้ย คนกรุงเค้าปลูกบ้านกัน 3 ล้านเลยเรอะ! 😛

  2. @kapongpang พูดว่า:

    ต้อนนี้ก็ยังไม่กล้ารับงานเป็นรายชั่วโมงครับ มีทีมงานเน้นโปรเจกเป็นรอบๆไป สรุปงานหนึ่งคิดเหมารวมไปเลยว่าราคาเท่าไร ครับ

  3. patchara พูดว่า:

    บล็อกนี้เยี่ยมมากครับ 😀

    โดยปกติแล้วต้นทุนของผมจะมี Client Meeting ที่ควรจะเป็น Cost ที่สำคัญตัวเดียวกับ Consulting อยู่ด้วย
    แต่เป็น Cost ที่ลูกค้าไม่ค่อยเข้าใจ

  4. notjiam พูดว่า:

    ในส่วนตัวผม ตอนนี้เริ่มปรับๆ คิดงานตามชั่วโมงแล้วเหมือนกันครับ รู้สึกสบายใจทั้งคนทำและลูกค้าเมื่อแจกแจง
    เพราะในใจคุณลูกค้าบางคนที่เคยเจอ ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของงานที่ใช้ทุนทางเวลา อาจจะมองอย่างง่ายๆ ตรงๆ คุณลงทุนอะไร? ทำไมมันถึงออกมาเป็นราคานี้?
    ปกติผมจะคิด ช.ม.ละ 400-500(ตามค่าสอนตอนเป็น อ.พิเศษ)

    แต่ถ้าตอนนี้ส่วนมากผมคิดเป็นหน้าๆ ครับ เพื่อลูกค้าได้เห็นภาพมากที่สุด เขาจะได้วางแผนได้ว่า ถ้าหน้าไหนไม่สำคัญจริงๆ มันคือต้นทุนของเขานะ ซึ่งเขาควบคุมได้ ถ้าคิดเป็นหน้าผมจะเปิดก่อนค่า Design 5000 นี้คือหน้าแรก เหมือนเป็นการนำโครงทั้งหมด แล้วจะต่อด้วย 3000 ต่อหน้า และ HTML/CSS หน้าละ 500 กึ่งเหมาๆ บางหน้าทำน้อย แต่บางหน้าก็เยอะเกิน ก็เฉลี่ยๆ กันไป แต่ถ้าเจ้าไหน Art จัดก็จะมีค่า Design บวกเพิ่มต่างหากตามแล้วแต่ความยากง่าย

    ส่วนตัวยังไม่เคยใช้ wp เท่าไหร่ ส่วนมากจะส่งต่อให้พี่ @9aum ทำโปรแกรมจัดการต่อในส่วนของโปรแกรมอีกทีซึ่งก็จะมีราคาของพี่เขาบวกเข้าไป ถ้ามีแก้งานภายหลัง คิดว่าคิดราคาเป็น ช.ม จะโอเคที่สุด

    ตัวอย่างงานที่เคยทำโดยใช้วิธีคิดแบบรายหน้า
    http://www.slotmachinerock.com/ เว็บวงดนตรี(งานนี้เป็นราคาพิเศษจจริงๆ เพราะทำงานกับพี่ที่ติดต่อแล้วสบายใจ)
    http://www.happyreading.in.th/ เว็บแผนงานส่งเสริมการรักการอ่าน
    http://www.dokujeans.com/ เว็บกางเกงยีนส์(อันนี้มีก้อน flash บางส่วน ก็ราคา flash กันไปตามความยากง่าย)
    http://www.ygg-cg.com/ เว็บ บ.ทำ CG (อันนี้ไปๆ มาๆ flash หนักมาก หลังๆ จะพยายามไม่รับเว็บ flash แล้วครับปัญหาเยอะมาก)
    http://www.numokids.com เว็บเสื้อเด็กของเพื่อน (โปรโหมดให้เพื่อนหน่อยมีลูกมีหลายซื้อกันได้นะครับ 😛 )
    http://www.strawberrycheesecake-tv3.com/ ล่าสุด เว็บสาวๆ พึ่งเสร็จไปไม่น่านครับ

    สุดท้ายขึ้นอยู่กับคุณลูกค้าว่าราคาที่เขารับได้จะอยู่ที่เท่าไหร่ และเขาจะเจอคนที่ทำงานร่วมกับเขาได้จริงๆ
    อยากฟังมุมมองของทางฝั่งคุณลูกค้าบ้าง จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเรามากๆ

    1. iMenn พูดว่า:

      โห งานสวยมากเลย ชอบๆๆ 🙂

  5. ake117 พูดว่า:

    ตรงกระบวนการทำเว็บ เรียงตามลำดับรึเปล่าครับ
    ผมมองว่า page design, copywriting, art direction (รวมๆ ทั้งเว็บ), photography อยู่ในกลุ่มของ visual design ดังนั้นมันน่าจะอยู่ใน stage แรกๆ เหมือนการ design หน้าตา & sketch และแก้แบบครับ

    1. iMenn พูดว่า:

      ผมไล่ตามฝรั่งน่ะครับ แต่เห็นด้วยครับว่าน่าจะอยู่ stage แรกๆ 🙂 ไม่งั้นรูปมาทีหลัง หากเป็นคนละแนวนี่ยุ่งเรย

  6. ImWat พูดว่า:

    ผมมือใหม่ ยังไม่รับงานเต็มตัว+ฝีมือยังอ่อนด๋อย

    ผมคิดค่าแรงประมาณ ชม. ละ 250 บาท (เท่ากับค่าสอนพิเศษตัวต่อตัวขั้นต่ำ)

    ซึ่งคิดว่าเป็นค่าแรงที่อยู่ได้สำหรับฝีมือระดับ นิสิต นักศึกษา ไร้ประสบการณ์

    แต่ถ้าพูดตามตรง เวลาที่ estimate มักจะเยอะกว่าเวลาทำจริงๆ เช่น
    บอกลูกค้าทำ 40 ชม. = 10,000 บาท (ถ้าเป็นพนักงาน office ก็ทำ 4วันเต็ม)
    ทำจริงๆ อาจใช้แค่ 20 ชม. แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก ซึ่งเวลาที่ใช้ในการศึกษาผมก็คิดเพิ่มเป็นแรงงานที่ผมต้องใช้ในโปรเจ็ค

    ก็เหมือนบริษัทรับพนักงานใหม่เงินเดือนน้อย ยังทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะต้องศึกษาเพิ่มเติมเยอะ
    กับจ้างคนเก่งในเงินเดือนที่สูง ทำงานได้เยอะกว่า

    การจ้าง freelance มือใหม่ ค่าแรงถูก ก็ต้องย่อมรับกับค่าแรงในส่วนที่ใช้ในการศึกษาเพิ่มเติมด้วย
    ในขณะที่ freelance มือใหม่รับงานราคาถูกก็เพราะเขาคิดว่าได้ศึกษาเพิ่มเติมไปในตัว

    สำหรับผมคิดว่า win-win นะ ที่สำหรับคนจ้างไม่รู้เหมือนกัน 😉

  7. designbyarm พูดว่า:

    รับงานเป็นชั่วโมง กับ รับงานเป็นโปรเจค อันไหนคุ้มกว่ากันอะครับ = =”

    1. iMenn พูดว่า:

      ถ้างาน Requirement ชัดๆ ส่วนใหญ่เป็น Project จะคุ้มกว่านิดหน่อยครับ เพราะประเมินแล้วราคาไม่สูง (ในขณะที่อาจใช้เวลาน้อยแบบโคตรๆ เพราะลูกค้าเตรียมมาดี)

      ถ้างาน Requirement ไม่ชัด ส่วนใหญ่เป็น Project มักจะขาดทุนเกือบทั้งสิ้นครับ (นอกจากต้องทำสเกลใหญ่มากๆ หรือมีใต้โต๊ะ เพราะถ้ามีใต้โต๊ะ แม้ Requirement ไม่ชัด โปรเจ็คก็จบได้)

      ดังนั้นพี่ถึงคิดว่า การรับงานเป็นชั่วโมง ค่อนข้างยุติธรรมต่อทุกฝ่ายที่สุดครับ

      ตัวอย่าง: ถ้าทำเว็บ WordPress ที่แค่ลง WordPress ให้และติดตั้งธีม หากพี่คิดตามชั่วโมง พี่อาจได้เงิน 200 บาท (เพราะทำ 15 นาที) แต่ถ้าคิดเหมา บางทีก็อาจคิดกัน 2,000 บาท (เพราะเป็นราคาที่ลูกค้าจ่ายได้ และมันก็ถูกมากแล้ว ทำเว็บเชียวนะ)

      แน่นอนว่าไม่มีถูกมีผิดครับ เราเองบางทีก็ยอมซื้อยา 200 บาท ทั้งที่มันก็ไม่ต่างกับยา 20 บาท

    2. iPattt พูดว่า:

      เท่าที่ผ่านมารับงานเป็นชั่วโมง คุ้มกว่าแน่นอนครับ
      และยังสามารถทำให้เป็นธุรกิจเงินสด ทำให้เราประมาณ
      การได้โดยไม่ต้องหมุนเงิน อันนี้สำคัญมาก

      แต่การโน้มน้าวให้ลูกค้ารับงานเป็นชั่วโมงได้ต้อง
      ใช้ทักษะเล็กน้อย

  8. designbyarm พูดว่า:

    เข้ามาเก็บความรู้ของพี่ๆครับ 🙂 แอบงง พอใส่เว็บไซต์แล้วทำไม คอมเม้นต์ไม่ขึ้น แต่ไม่ใส่ comment ดันขึ้น

  9. designbyarm พูดว่า:

    พวกพี่ๆเก่งๆทั้งนั้น เลยปกติเค้าคิดค่าจ้างแบบนี้เลยหรอครับ 🙂

    1. iMenn พูดว่า:

      จริงๆ เค้าคิดกันสูงกว่านี้อีกมากครับ ที่พี่ใส่ 0 บาทหลายๆ อัน ถ้าเป็นบริษัทอาจต้องใส่หลักแสน 🙂

      แต่อย่างที่บอกนะครับ เว็บมันมีหลายแบบมาก ทำเว็บ 0 บาทมันก็ทำได้ครับ

  10. munkkron77 พูดว่า:

    เข้ามาชาบูคุณเม่นครับ อิอิ
    ผมชอบสไตล์การออกแบบแต่ละเว็บจัง เรียบง่าย น้อย แต่ดูดี

  11. ozinepank พูดว่า:

    บล็อกพี่เม่นช่างตรงไปตรงมาดีครับ ชอบ
    เป็นแนวทางระยะยาวเลยน่ะครับสำหรับวงการการคิดราคาการทำเว็บ

  12. earquake พูดว่า:

    ไม่มีประสบการณ์ด้านรับทำเว็บ แต่ผมว่ามันเอาไปประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่น ๆ ที่ใช้เวลาเป็นทุนได้ด้วย และทำให้ฝั่งคนจ้างเข้าใจมากขึ้นครับ

    อย่างผมเคยคิดจะหาคนทำเว็บให้ก็จะได้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด…เห็นแล้วเลยต้องกลับไปทำเอง งู ๆ ปลา ๆ ต่อไป ฮ่า ๆ ๆ

  13. (O_o) นอทซ่าาO พูดว่า:

    ไม่เคยจ้างทำ ไม่เคยรับจ้าง แต่ต่อไปจะรับจ้างแล้ว คงต้องคิดแพง ๆ ตามราคาสมองและสองมือ ไม่ทำไม่ว่าแต่ถ้าจะทำขอทำแบบสบายใจ

  14. Kuakoon พูดว่า:

    ขอแชร์ด้วยคนครับ 🙂 ลูกค้าเห็นตารางแบบนี้คงเข้าใจขั้นตอนการทำงานได้มากขึ้นด้วยครับ(ว่าทำเว็บไม่ง่ายนะ) ทางคนทำเว็บเองก็จะคิดราคาได้ง่ายขึ้นมาก ส่วนค่าตัวรายชั่วโมงของแต่ละคน คุณเม่นทำตัวอย่างไว้ดีมาก คือต้องคิดว่าเราต้องมีรายได้กี่บาทต่อเดือนถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ แล้วค่อยไล่มาเป็นราคาชั่วโมงของเรา

    ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ทำเว็บแบบคิดราคาถูก ยังไงรายได้ต่อเดือนก็ไม่ควรต่ำกว่า 15,000 ครับ 🙂

    ปัจจุบันผมใช้ทั้งคิดรายชั่วโมงและคิดเป็นโปรเจค แล้วแต่สถานะการณ์ ส่วนใหญ่จะรับแบบบริษัทซึ่งเว็บหนึ่งต้องทำงานกันหลายคน ก็จะต้องมีวิธีคิดต่างจากนี้ออกไปอีก และแล้วแต่ความยากง่ายของลูกค้าด้วยครับ(ไม่ใช่ความยากของงานนะ)

    งานทำเว็บถ้าควบคุมเวลาไม่ได้ก็จะขาดทุนครับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องการแก้งานออกแบบมากที่สุด ลูกค้าบางรายจะต้องแก้งาน design ให้ถูกใจตัวเองมากที่สุด โดยไม่สนใจว่าตอนนี้เราทำ CSS ไปแล้วนะ

    ถ้าเราต่อรอง..เรื่องคิดค่าชั่วโมงแก้งานแยกออกมาต่างหากได้ ก็จะปลอดภัยขึ้นมากครับ 🙂

    1. iMenn พูดว่า:

      “วิธีคิดต่างจากนี้ออกไปอีก”

      เอามาแชร์กันได้นะคร้าบ หรือถ้ายาว เขียนบล็อกแล้วทิ้ง link ไว้ก็ได้ครับ 🙂

      #กดดัน 🙂

      1. Kuakoon พูดว่า:

        แฮะๆ 🙂 ได้ครับคุณเม่น..ถ้าได้เขียนบล็อกคงต้องขออนุญาตฝากลิงค์ด้วยครับ

        1. iMenn พูดว่า:

          ว้าวๆๆๆ ขอบคุณมากเลยครับ

          อ่านแล้วรู้เลยว่า ต้องเจ็บตัวมาไม่น้อยแน่เรย ถึงใช้คำว่า “เผื่อค่าประกันการเกิดปัญหาที่ควบคุมไม่ได้”

          ฮิฮิ 🙂

          1. Kuakoon พูดว่า:

            ฮ่าๆๆๆ ผ่านมาก็มีสาหัสอยู่นะครับ .. ปัจจุบันมีเลือดซิบๆ บ้างประปราย 🙂

  15. phoenix พูดว่า:

    รบกวนหน่อยนะครับไม่ตรงกับประเด็นเท่าไรแต่สนใจครับ เว็บขายผ้าม่าน ที่แต่ล่ะหน้ามีเมนูที่ไม่เหมือนกันนี้ไม่ทราบว่าใช้ ปลั๊กอินตัวไหนครับ หรือว่าเขียนโค็ดปรับแต่งครับ พอจะช่วยตอบให้หน่อยได้มั้ยครับขอบคุณครับ

    1. iMenn พูดว่า:

      ถ้าหมายถึงแต่ละหน้ามี Sidebar (Widget Area) คนละชุดกันนั้น ทำได้ 2 แบบครับ คือเขียน Page Template เองเลย (แล้วก็สร้าง Widget Area เองตั้งแต่แรก) หรือใช้ระบบที่คุณจ๋งเขียนไว้ให้ครับ คือใน ThaiTeam หรือ V. Nakorn ครับ​ (ลองค้นดูครับ)

      1. phoenix พูดว่า:

        ขอบคุณมากครับเดี๋ยวจะลองแกะดู

  16. loptar พูดว่า:

    อยากถามนิดนึงครับ ถ้าเคยทำเว็บให้ลูกค้าไปแล้วเว็บนึง ลูกค้าชอบมาก ให้ทำอีกเว็บ บอกว่าเอาแบบเดิม เปลี่ยนรูป เปลี่ยนสีก็พอ จะคิดราคายังไงดีครับ

    1. iMenn พูดว่า:

      ถ้าเป็นผมก็คิดราคาตามเวลาที่ทำใหม่ครับ อาจจะไม่ถึงชั่วโมง หรืออาจจะไม่กี่ชั่วโมง ก็คิดไปตามจริง (ดังนั้น ก็น่าจะเป็นไปได้ตั้งแต่ 400 – 4,000 บาท)

      แต่ถ้าไม่ได้คิดตามเวลาทำงาน ก็ต้องต่อรองกันว่าแค่ไหนที่พอใจทั้งสองฝ่ายน่ะครับ

  17. ohm พูดว่า:

    แบ่งปันกันครับ บทความดีๆ อย่างนี้

  18. iMenn พูดว่า:

    เจอคนคิดค่าแรงเป็นชั่วโมงอีกเจ้า อ่านแล้วชอบใจยิ่งนัก งานสวย โฆษณากวนโอ๊ยดี

    http://www.fdfdiehard.com/

  19. KKK พูดว่า:

    ผมใช้ จุมล่าทำเว็บไซต์อยู่คับ พอดีเป็นนักศึกษา หาเงินพิเศษ ทำงานก็แสนจะถู๊ก ถูก มักถูกลูกค้ากดเสมอๆ สับสนใน ชีวิตเล็กน้อย (ห้าๆ)
    หลักการทำงานยังไม่เป็นระบบเลยครับ แต่ก็พยายามทำให้เป็นระบบ ส่วนวิธีการทำเว็บไซต์ก็ศึกษาเอง ลองผิดลองถูก เลยลองเขียนดูครับ

    เป็นเว็บ ขำๆน่ะครับ ล้อการเมือง
    http://www.xn--12c1bip4b3b2br0l.com/

    (6000 บ ) เอง = =
    เว็บบริษัททัวร์
    http://www.j-packagetour.com
    (11000 บ )

    มีอะไรต้องศึกษาอีกเยอะคับผม แต่ตอนนี้กำลังแย่ ไม่ค่อยมีลูกค้าเท่าไร เลยพยายามหาเงินจะเว็บไซต์ส่วนตัวจ่ายค่าหน่วยกิจไปก่อน ห้าๆ

  20. Nongoffna พูดว่า:

    เข้ามาเก็บความรู้ค่า ช่วงนี้ก็รับงานทำเว็บอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยทำตารางรายละเอียดขนาดนี้เลยค่ะ
    ขอนำไปปรับใช้นะคะ ^ ^
    พี่เม่นให้รายละเอียดได้เจ๋งมากๆค่ะ

  21. designbyarm พูดว่า:

    พี่เม่นอาร์มมีคำถามอย่างนึง แล้วหลังจากเราทำเว็บให้ลูกค้าเสร็จแล้ว ต้องคิดค่าดูแลอีกไหมอะครับ

    1. iMenn พูดว่า:

      ก็แล้วแต่ตกลงครับ ถ้าเป็น Rate-card มันก็ง่าย เวลาเค้าอยากให้ทำอะไร (หรือเราเสนอว่าจะช่วยดูแลอะไร) ก็คิดตามเวลา

      แต่ถ้าไม่งั้น ก็ต้องดูว่าเค้ารับไปดูแลต่อได้เลยมั้ย หรือเราจะดูให้อีกระยะ

      ปกติพี่จะดูให้ลูกค้าอีกระยะ ประมาณ 1-2 เดือนครับ แล้วก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหา อีกอย่างคิดตาม Rate-card อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเค้าอยากปรับเยอะจริง ก็จ่ายตามเวลาทำงานจริงน่ะครับ

  22. ozinepank พูดว่า:

    เรื่อง Rate-card ผมว่าก็โอเคน่ะครับ แต่ถ้าคิดค่าดูแลนี่สิจะคิดแบบไหนครับพี่เม่น หรือคิดตามเวลาที่แก้งานครับ

    1. iMenn พูดว่า:

      ปกติพี่คิดตามเวลาแก้งานครับ โดยพยายามประมาณก่อนเวลาทำงาน ซึ่งการเก็บแบบบัตรเติมเงินทำให้เราสามารถทำงานเล็กๆ ไปได้เลยน่ะครับ (เนื่องจากเติมเงินไว้แล้ว) ส่วนปัญหาใหญ่เราก็ถามลูกค้าก่อนว่าอยากแก้จริงหรือเปล่า? มันใช้เวลาเยอะ (แปลว่าค่าใช้จ่ายสูง) ถ้าเค้าเห็นว่าคุ้ม เค้าก็ให้แก้ครับ

  23. @thump พูดว่า:

    โอ้ว บทความดีมากๆเลยครับ ยังงี้ผมต้องปรับปรุงอีกเยอะเลยนะเนี่ย ขอบคุณมากๆครับ

  24. normalfx พูดว่า:

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ นะครับ มีประโยชน์มากสำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่ที่ไม่รู้จะเริ่มคิดเงินยังไง

  25. pohz พูดว่า:

    ขอปรึกษาคุณ iMenn หน่อยครับ

    ผมจะมีปัญหาด้านการ โค กับลูกค้าด้านระยะเวลา ปกติผมจะเสนอ action plan หรือ timeline ให้ลูกค้า
    แต่ปัญหาคือการตอบกลับของลูกค้าใช้เวลาช้ามาก (คงเป็นเพราะว่าไม่ใช่ธุกิจหลัก)
    ทำให้ action plan ต้องขยายระยะเวลาออกไป ก็ผลกระทบด้านลบสูงนะครับ
    เช่น
    Team เกิดทิ้งงาน เพราะคิดว่างานไม่คุ้ม
    ลูกค้า โทษว่างานล้าช้า อาจจะโดนปรับ
    Next Project ต้องถูก Drop

    คุณ iMenn พอจะมี Idea แก้ปัญหาด้านนี้ยังไงบ้างครับ

    1. iMenn พูดว่า:

      1. ถ้าลูกค้าเขียนสัญญาว่าจะปรับกรณีเราส่งงานช้า เราต้องเขียนสัญญาว่าจะปรับกรณีส่งข้อมูลเลท หรือคอมเม้นท์เลทด้วยครับ ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย

      2. การกำหนด Timeline ที่ดี คือบอกว่า จะส่งในอีก xx วันหลังจากได้ข้อมูล (และการตัดสินใจ) เช่น โปรเจ็คจะเสร็จใน 90 วันหลังได้รับเงินงวดแรก (เช็คเคลียริ่งแล้ว) และได้รับข้อมูล 100% แล้ว ไม่ควรบอกว่าจะเสร็จในเดือน abc

      หรือถ้าแบ่งช่วง ก็เช่น ช่วงสรุปขอบเขต (wireframe), ช่วงดีไซน์, ช่วงพัฒนาระบบ ฯลฯ เราไม่ควรบอกว่าเสร็จวันที่เท่าไหร่ แต่ควรบอกว่า เสร็จใน xx วันหลังจากอนุมัติช่วงก่อนหน้า โดยเฉลี่ยแก้ไม่เกิน xx ครั้ง

      ดังนั้น การที่ยังไม่อนุมัติหรือคอมเม้นท์ในช่วงก่อนหน้า เราต้องเตือนเสมอว่า จะทำให้กำหนดเสร็จเลทออกไป หรือแก้เกิน xx ครั้ง ก็จะทำให้งานเลทเช่นกัน

      3. พยายามคิดเงินรายชั่วโมง (กรณีฟรีแลนซ์) หรือคิดเป็นรายเดือน (กรณีบริษัท) เพราะจะทำให้ลูกค้ากระตือรือล้นที่จะคอมเม้นท์และจบงาน เนื่องจากยิ่งจบงานเร็ว เค้าจะยิ่งจ่ายถูก

      เช่น ของไทเกอร์ ไอเดีย อาจคิดค่าทำเว็บ เดือนละ 30,000 บาท ถ้าเค้าเตรียมข้อมูลพร้อม เดือนแรกก็เสร็จทันที แต่ถ้ายังแก้ ก็อาจต้องทำ 3-4 เดือน เราวางบิลทุกสิ้นเดือน ถ้าลูกค้าไม่จ่าย ก็เท่ากับไม่ต้องทำต่อน่ะครับ

      แต่กรณีนี้ต้องเขียนให้ชัดว่า เราจะใช้เวลาทำงานแบบไหน เฉลี่ยกี่วัน

      4. ถ้าอยากให้ได้ผลกว่านั้น เราต้องวิเคราะห์โมเดลธุรกิจของเค้า (แทนลูกค้า) ว่าควรทำเว็บระดับไหนจึงจะคุ้ม ใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วช่วยเค้าวางแผนให้ครบ ทั้งกำหนดการถ่ายรูป, ทำการตลาด, เปิดตัว ฯลฯ กรณีนี้คือการทำตัวเป็น Web Agency ก็จะทำให้เราสร้างกำหนดการแทนลูกค้าได้ (แต่ต้องมีความสามารถมากกว่าการทำเว็บด้วย)

      5. หรือสำหรับบางโมเดลที่ซับซ้อน ก็จะเป็นการ “ขอคอมมิสชั่น” เช่น ทำเว็บฟรีหรือถูกมาก แล้วขอส่วนแบ่งเมื่อขายได้ อันนี้ลูกค้าจะแทบไม่ยุ่งกับเว็บเลย แต่ความยากคือเราต้องมั่นใจว่าทำแล้วคุ้ม

      ส่วนใหญ่ที่ทำแบบนี้คือเว็บโรงแรมขนาดเล็ก แล้วขอยอดขายผ่านเว็บที่ 5-10%

  26. ken พูดว่า:

    ผมคิดตามความเรื่องมากของลูกค้า ซึ่งเราจำเป็นต้องประเมินให้ออกตั้งแต่การบรีฟงานครั้งแรกครับ
    เพราะส่วนใหญ่จะเจอลูกค้าที่แบบว่า อยากได้ราคาตอนนี้ (คิดแพงก็จะได้ไม่ทำ)
    ซึ่งถ้าเราประเมินพลาด จะเจอกับหายนะเลยทีเดียว เช่นทำเว็บหมื่น5 เป็นเวลา 2 เดือนยังไม่เสร็จ

    สมการของผมก็จะออกมาแบบนี้ครับ
    ค่าทำเว็บไซต์ = ระบบหลัก30%+ระบบเสริม15%+บริการเสริม15%+ค่าความเรื่องมาก40%

    ก็ตรงตามตัวอย่างที่ฝรั่งบอก
    ค่าแรงหลัก 50$/hr
    ถ้ามาด้อมๆ มองๆ เวลาทำ 75$/hr
    แต่ถ้าคิดจะมาช่วยล่ะก็ 100$/hr ไปเร้ยยย แสดงว่าเรื่องมากสุดๆ

  27. code father พูดว่า:

    ได้ความรู้มากมายครับผม
    ถ้าจะให้ดีน่าจะมีตัวอย่างระบบงาน และก็ราคาที่รับด้วยก็จะดีครับ
    เผื่อจะได้ไปทางทิศทางเีดียวกัน

    แล้วมีเรดการคิดราคาระหว่างโปรเจ็คนักศึกษา กับ ที่ไม่ใช่นักศึกษาอย่างไรครับ
    ส่วนตัวผมเอง ก็ยังทำเอาฮาอยู่เลย ไม่ได้ทำเป็นล่ำเป็นสัน ประมาณว่ามีก็รับ
    ถ้าคุยแล้วเหมือนไม่ค่อยมีตังค์ ก็หยวน ๆ ช่วย ๆ กันไปอะครับ

    นาน ๆ ถึงจะมีที ก็ยังดีกว่าไม่มีทำ (555)
    สงสัยผมจะมาผิดทาง คงเป็นแค่โปรแกรมมั่ว…ชาตินี้คงไม่รวยกับเขาแน่เลย

  28. ATTABoY พูดว่า:

    ขอบคุณครับ เป็นการเปิดมุมมองใหม่ของผมเลยนะเนี่ย