ทรรศนะในเรื่องความสุข

11 ธันวาคม 2012 23:55 น. บันทึก

ภรรยาบันทึก สถานะในเฟสบุค ว่า

เพิ่งเห็นว่าไม่ได้อัพเดตบล็อกมานานมาก ทั้งที่ชีวิตไปเจออะไรมากมายควรค่าแก่การจารึกไว้ในจักรวาล มาคิดอีกทีปีที่ผ่านมาลึกๆ มันก็ไม่ได้มีความสุขนักหรอก ไม่อัพบล็อกก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ตอนนี้ชีวิตก็ไม่ได้สุขม๊ากกกกกมาก ( มันมีด้วยเหรอชีวิตแบบนั้น ) แต่มันไม่ค่อยทุกร้อนเท่าไหร่ ( อิเม่นบอกว่านี่แหล่ะเค้าเรียกความสุข ถ้าสุขเวอร์เค้าเรียกความเพ้อฝัน ) ก็ว่าจะกลับไปอัพบล็อกแล้วล่ะ ^_^

แล้วก็ให้ผมปรับปรุงบล็อก ramida.net โดยใส่รูปผืนดินที่เธอถ่ายไว้

แล้วพลันผมก็คิดถึงทรรศนะในเรื่องความสุข

ความสุขกับวุฒิภาวะ

อย่างสั้นที่สุด ผมคิดว่า ความสุขนั้นขึ้นกับวุฒิภาวะในการรับรู้ความสุข ยิ่งวุฒิภาวะมาก ก็ยิ่งเข้าใจความสุขที่ปราณีตขึ้น

อย่างเช่นคนที่ไม่ค่อยรู้จักความอร่อย พอกินผงชูรสมากๆ ก็คิดว่าอร่อย แต่หากเราเป็นคนช่างกิน เราจะพบว่ารสชาติของผงชูรสนั้นไม่อร่อย รสชาติของวัตถุดิบตามธรรมชาติหลายๆ อย่างนั้นต่างหากที่อร่อยกว่า

แต่หากไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง คนอื่นว่าอะไรอร่อย เราก็ว่าอร่อยไปด้วย สุดท้ายยิ่งทำให้เราไม่เข้าใจวุฒิภาวะตัวเองไปกันใหญ่ว่า จริงๆ เราอร่อยกับผงชูรสระดับไหน หรืออร่อยกับรสชาติของวัตถุดิบในระดับไหน

เหมือนกับที่หากไปลอกความสุขของคนอื่น เราก็จะไม่เข้าใจความสุขของตัวเอง ว่าเหมาะกับการใช้ชีวิตแบบไหน, งานระดับไหน, เงินระดับไหน สุดท้าย ทำตามคนอื่นๆ พบเจอเหมือนคนอื่นๆ แต่ไม่มีความสุขเหมือนคนอื่นๆ (หรือมากกว่านั้น คือไปตัดสินแทนคนอื่นว่า ทำแบบนี้ไม่มีความสุขหรอก ชั้นผ่านมาแล้ว)

ความสุขคือการได้ทำตามความฝันและเลี้ยงชีพได้

ผมคิดว่าวุฒิภาวะของผมในช่วงนี้ น่าจะเข้าใจความสุขได้ประมาณนี้ คือความฝัน กับการเลี้ยงชีพ ซึ่งเมื่อแตกความฝัน เป็นความรักและความเก่ง ก็จะพบว่าตรงกับที่ผมเขียนไว้ว่า คนเราควรจะทำในสิ่งที่รัก, เก่ง และทำกำไร นั่นเอง

ผมคิดว่าคนเราจะมีอิสรภาพได้ อันดับแรกต้องเลี้ยงชีพได้ก่อน เมื่อไม่ต้องขอเงินใคร ก็ไม่ต้องอยู่เบื้องล่างใคร (คุณชาติ กอบจิตติ ใช้คำได้น่ารักมากคือ ไม่ต้องกุมไข่โค้งใคร) ส่วนความฝัน ก็คือข้ออ้างของกิเลสตัวอื่นๆ ในชีวิตปุถุชนที่ผมยังพิสมัยอยู่นั่นเอง

ผมเห็นว่าจะมีความสุขได้ต้องมีเงินระดับนึงที่จะไม่ลำบาก เงินที่มากไปมาพร้อมพันธะที่ไม่อาจปฏิเสธ หากจะเรียกว่าความพอเพียงก็คงได้ ซึ่งฝรั่ง วิจัยไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ $75,000 ต่อปี

กราฟจากงานวิจัย เทียบความสุขกับรายได้

กราฟจากงานวิจัย เทียบความสุขกับรายได้

หมายเหตุ: แต่ส่วนตัวชอบกราฟความสุขด้านล่างมากกว่านะ จากหนังสือ Your Money or Your Life แม้จะไม่ตรงกับผลวิจัยด้านบน

กราฟความสุขและเงิน

กราฟความสุขและเงิน

ทรรศนะในเรื่องความสุขของท่านอื่นๆ

ความสุขคือการมีข้าวกิน มีงานทำ

อ่านจากหนังสือมานานหลายปีแล้ว จำไม่ได้ว่าใครกล่าว แต่ชอบ

ความสุขคือการตอบสนองความต้องการ 5 ขั้น

สรุปเองจาก ความต้องการ 5 ขั้นของมาสโลว์ : ด้านกายภาย/ความปลอดภัย/ความรักความเป็นเจ้าของ/ความเคารพนับถือ/ความสมบูรณ์ของชีวิต

ความสุขคือการทำงานที่รัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และออกเดินทาง

กล่าวโดยคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เท่มั่กๆ 🙂 เลยรู้สึกว่าตนเองเดินทางน้อยไปแฮะ 😀

ความสุขคือดิน หญ้า และงาน

จากหนังสือ “คนไม่รู้หนังสือ” ของ อีวาร์ ลู ยูฮันส์ซอน อ่านแล้วชอบยิ่งนัก แต่ก็ยังเป็นคนเมืองอยู่ ยังลงไปกับดิน/หญ้า ไม่ค่อยไหวแหะ 🙂

ความสุขคือการอุบัติซ้ำอันน่าเบื่อหน่าย

จากหนังสือ “ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต” ของมิลาน คุนเดอรา เทพอักษรท่านนี้ก็ชอบประชดประชันอย่างนี้แล 🙂

ความสุขมี 10 ระดับ คือ กาม/รูปฌาน ๔/อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

จากพระไตรปิฎก: การบัญญัติความสุขในพระพุทธศาสนา ผมยังวนเวียนอยู่ใน Level 1 ไปมา ไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่ก็สะสมวุฒิภาวะกันต่อไป (ในทางพุทธ เรียกวุฒิภาวะนี้ว่า บารมี)

ส่วนความสุขของคนอื่นๆ เป็นอย่างไร แชร์กันได้นะครับ 🙂

ความเห็น